ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กระทู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่ โดยเฉพาะครับ (ภาค 1)

ยากจะตั้งกระทู้เพื่อรวบรวมข้อมูลที่มือใหม่ต้องการ ทราบเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นครับผม เพราะบางทีเจอคำถามบ่อย ๆ ที่นักลงทุนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาถามกันบ่อยครับผม

ท่านใดเห็นว่าข้อมูลตรงไหนไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ช่วยกรุณาบอกด้วยนะครับ (แหล่งข้อมูลคือ ตัวผมเองครับ ฮ่าฮ่าฮ่า ฮ่าฮ่าฮ่า ฮ่าฮ่าฮ่า) อาจจะมีผิดพลาดบ้าง

โดย red_dev

---------------------------------------------------------

คำถามแรกครับ ถ้าต้องการเล่นหุ้นต้องทำอย่างไร

ก่อน อื่นถ้าต้องการเล่นหุ้น ต้องมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ครับ คล้าย ๆ กับเราไปเปิดบัญชีกับธนาคารนั่นแหละครับ มีโบรกเกอร์หรือนายหน้าหลายแห่งที่ให้บริการผู้ลงทุนอยู่ครับ ซึ่งตรงนี้ โดนบังคับเลยครับว่าต้องเปิดบัญชีหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาต เท่านั้น อยู่ ๆ จะไปเปิดบัญชีเทรดกับตลาดหลักทรัพย์เอง ไม่ได้ครับ

โดยเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเปิดบัญชีทั่ว ๆ ไปก็คือ
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน (เพื่อให้โบรกเกอร์ทราบว่า ฐานะทางการเงินของเราเป็นอย่างไร, สมควรได้วงเงินในการเทรดเท่าไหร่ครับ)
- สมุดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ (เพื่อใช้ชำระเงินค่าซื้อ และรับเงินค่าขายหลักทรัพย์ครับ) ทางโบรกเกอร์จะมีการตกลงกับทางธนาคารเองครับ

** แนะนำให้เอาหลักฐานตัวจริงไปถ่ายเอกสารที่บริษัทฯ ได้เลยครับ เพราะทางบริษัทฯ จะใช้กี่ชุดก็จะจัดการเองครับ

โดยบัญชีหลัก ๆ ที่นักลงทุนควรทราบจะมีอยู่ 4 บัญชีครับ
1. บัญชีเงินสด (Cash ) ซึ่งเป็นบัญชีที่กำหนดวงเงินไว้นั้นแหละครับ ว่าลูกค้าแต่ละคนที่เข้ามาเปิดบัญชี จะได้วงเงินในการเทรดเท่าไหร่ (จากหลักฐานที่ลูกค้านำมาแสดงนั่นแหละครับ) ซึ่งต้องมีการวางหลักประกัน 15% เพื่อซื้อหลักทรัพย์ด้วยครับ

2. บัญชีเงินฝาก (Cash Balance) เป็นบัญชีที่ไม่มีวงเงินตายตัวครับ วงเงินที่สามารถซื้อได้ จะเป็นไปตามจำนวนเงินฝากที่ลูกค้าฝากไว้กับทางโบรกเกอร์ครับ เช่น ลูกค้าฝากเงินไว้กับบริษัท 1,000,000 บาท ก็จะซื้อได้ตามจำนวนที่ฝากไว้ครับ คือ 1,000,000 บาท เมื่อเปลี่ยนจากเงินสดไปเป็นหุ้นแล้ว จำนวนวงเงินก็ลดลงตามไปครับ เช่น ซื้อหุ้นไป 300,000 บาท วงเงินก็จะลดลงเหลือ 700,000 บาทด้วยครับ

3. บัญชีมาร์จิ้น (Credit Balance) อันนี้เหมือนกับการกู้เงินเพื่อซื้อหุ้นนั่นแหละครับ รายละเอียดค่อนข้างเยอะ และในตอนนี้โบรกเกอร์ต่าง ๆ ก็จะไม่เปิดให้กับลูกค้าแล้วครับ เพราะแม้แต่ TSFC ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ใหญ่ตอนนี้ ยังเอาตัวไม่รอดเลยครับ

4. บัญชีอนุพันธ์ (Delivertive) เป็นบัญชีเพื่อเทรดตราสารอนุพันธ์โดยเฉพาะครับ

--------------------------------------------------------

คำถามต่อไปครับ ซื้อหุ้นเมื่อไหร่ จึงจะได้สิทธิ ซึ่งสิทธิในที่นี้รวมทั้ง ปันผล, หุ้นเพิ่มทุน, วอร์แรนท์, สิทธิเข้าประชุม ฯลฯ

อย่าง แรกต้องทำความเข้าใจก่อนครับว่า เมื่อบริษัทฯ ใดต้องการจะจ่ายเงินปันผลหรือต้องการที่จะให้สิทธิอะไรกับผู้ถือหุ้น จะต้องมีการทำรายชื่อผู้ที่มีสิทธินั้น ๆ ซึ่งที่เรารู้จักกันดีคือ วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อ..... เพื่อ... รับสิทธิอะไรก็ตามแต่ครับ ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่รายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนฯ เท่านั้นที่จะได้สิทธินั้นครับ

ตรง นี้แหละครับที่เราจะทราบว่าเราต้องซื้อหุ้นเมื่อไหร่ถึงจะได้สิทธิ เช่น บริษัทฯ A บอกว่าปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผลวันที่ 27/2/2009 เราก็นับวันเลยครับ เมื่อปิดสมุดทะเบียน 27/2/2009 ให้นับก่อนหน้าไปสามวันทำการ ย้ำนะครับว่าสามวันทำการ ไม่นับวันหยุด เราก็จะได้วันที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD ซึ่งตรงนี้ใช้ได้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร ซึ่งเดี๋ยวผมจะแจ้งให้ทราบครับ ว่าเครื่องหมายแต่ละอย่างหมายถึงอะไร แปลว่าหุ้น A จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24/2/2009 ซึ่งหมายความว่าในวันที่ขึ้นเครื่องหมายนั้น ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้สิทธินั้นแล้วครับ ถ้าต้องการได้เงินปันผลของบริษัท A จะต้องซื้อหุ้นอย่างช้าในวันที่ 23/2/2009 ครับ และต้องถือหุ้นจนสิ้นวันที่ 23/2/2009 ครับ แม้ว่า ในวันขึ้นเครื่องหมาย XD คุณจะขายหุ้นออกไปหมดก็ตาม ก็จะได้รับเงินปันผลอยู่ดี เพราะชื่อของคุณได้เข้าไปในสมุดทะเบียนผู้ถือห้นเพื่อรับเงินปันผลแล้ว นั้นเองครับ

เครื่องหมายต่าง ๆ ครับ
XD =ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผล
XW =ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับวอร์แรนท์
XR = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเพิ่มทุน
XM = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XA = ปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับสิทธิ หนึ่งอย่างขึ้นไป (เช่น รับสิทธิเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุน และ รับวอร์แรนท์)

สำหรับท่านที่ต้องการดูปฏิทิน ตามลิ้งค์นี่ไปครับ http://www.set.or.th/set/xcalendar.do?language=th&country=TH

----------------------------------------------------

คำถาม ทำไมบริษัทต่าง ๆ จึงต้องนำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อัน นี้ลองสมมุติตัวเองเป็นเจ้าของบริษัทฯ ๆ นึงนะครับ ซึ่งดำเนินกิจการไปเรื่อย ๆ วันนึง ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่ซึ่งถ้าโดยหลักการแล้วมีสองทางให้เลือก

1. กู้จากแหล่งเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือออกตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า หุ้นกู้ นั่นแหละครับ ซึ่งตรงนี้ บริษัทฯ จะมีสภาพเป็นลูกหนี้ทันที และยังมีภาระคือ ภาระดอกเบี้ยครับ

2. หาผู้ร่วมทุน คือการเอาหุ้นไปขายนั่นแหละครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าจะไปขายให้ใคร แล้วแต่คุณครับ แต่วิธีที่ทำกันคือ มาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครับ คราวนี้คุณก็เพิ่มทุน แล้วเอาทุนหรือ หุ้นที่เพิ่มขึ้นมา เข้ามากระจายในตลาดหลักทรัพย์ กำหนดราคาขายว่าจะขายในราคาเท่าไหร่ ถ้าผู้ลงทุนพอใจ ก็ซื้อหุ้นคุณไป ซึ่งตรงนี้ภาระของคุณคือการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และผู้ถือหุ้นก็จะเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกับคุณ และได้รับผลประโยชน์จากเงินปันผล และส่วนต่างของราคาหุ้น ซึ่งคุณไม่ต้องจ่ายปันผลทุกปีก็ได้ครับ ถ้าเห็นว่ากำไรที่ได้มาต้องการนำไปขยายกิจการ และผู้ถือหุ้นก็จะมีสถานะเป็นผู้ร่วมทุน ไม่ใช่เจ้าหนี้ครับ

ยก ตัวอย่าง เอาแบบสด ๆ ซิง ๆ เลยครับ หุ้น AIM ที่เข้าเทรดวันที่ 19/2/2009 มีราคาพาร์คือ ราคาทุนจดทะเบียนหุ้นละ 1 บาท แต่ทางบริษัทฯ ขายหุ้นให้กับผู้จองหุ้นก่อนเข้าตลาดในราคาหุ้นละ 1.10 บาท ซึ่งตรงนี้ทางบริษัทได้กำไรไปแล้วหุ้นละ 0.10 บาท แล้วพอหุ้นเข้าเทรดในตลาดได้ราคา 1.65 บาท (ในราคาเปิด) แปลว่าผู้จองซื้อได้กำไรส่วนต่างราคาหุ้นแล้วหุ้นละ 0.55 บาท


--------------------------------------------

คำถามนี้เจอบ่อยมากครับ จะเป็นโบรกเกอร์ ต้องทำอย่างไร

ส่วน ใหญ่คนจะเข้าใจผิดคิดว่า มาร์ฯ หรือ มาร์เกตติ้ง ที่เรียกกันว่าเจ้าหน้าที่การตลาดกับ โบรกเกอร์ คืออันเดียวกัน ต้องขอทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า โบรกเกอร์คือ บริษัทฯ หลักทรัพย์ ไม่ใช่ตัวคน การจะเป็นโบรกเกอร์ต้องมีใบอนุญาตการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ครับ ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ออกใหม่ให้แล้วครับ ต้องไปหาใบอนุญาตฯ จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ปิดตัวไปนั่นแหละครับ ซื้อขายกันเป็นหลัก หลายล้านบาทครับ

คราวนี้มาดูความหมายที่ต้องการครับ มาร์ฯ หรือ เจ้าหน้าที่การตลาดคือ ผู้มีหน้าที่ติดต่อกับผู้ลงทุน โดยต้องไปสอบเพื่อเอาใบอนุญาตเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนโดยหลัก ๆ ก็คือ เจ้าหน้าที่การตลาดตราสารทุน ครับ รายละเอียดการสอบไปตามลิ้งค์นี่เลยครับ http://www.tsi-thailand.org/

เจ้าหน้าที่การตลาด จะมีรายได้จากเงินเดือน และ หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ลูกค้าที่ตัวเองดูแล ซื้อหรือขายหุ้นครับ

----------------------------------------------

ค่าธรรมเนียมในการซื้อและขายหุ้นเป็นอย่างไร

โดย ปกติ ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นรายได้หลักของโบรกเกอร์เลยครับ ซึ่งจะเรียกเก็บจากลูกค้าที่มีการซื้อและขายหลักทรัพย์ครับผมซึ่งตอนนี้ผู้ ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อและขาย ผ่านสองช่องทางหลัก ๆ ครับ

1. ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด คือ ลูกค้านั่งในห้องค้าแล้วตะโกนบอกมาร์ฯ ให้คีย์ออร์เดอร์ให้ หรือโทรศัพท์ให้มาร์ฯ คีย์ออร์เดอร์ให้ครับ ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะเก็บ 0.25% ของมูลค่าการซื้อและขาย โดยการซื้อจะบวกค่าธรรมเนียมเพิ่มไปกับจำนวนเงินที่ชำระ และถ้าขายก็จะหักออกจากจำนวนเงินที่รับครับ และยังมี ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดจากค่าธรรมเนียมนะครับ ไม่ใช่มูลค่าการซื้อขาย เช่น ซื้อหุ้น 100,000 บาท ก็จะต้องชำระเงิน 100,000 + 250 + 17.50 = 100,267.50 บาทครับ แต่ถ้าขาย 100,000 ก็จะได้รับเงิน 100,000 - 250 - 17.50 = 99,732.50 บาท ครับผม

2. ผ่านระบบอินเตอร์เนต ซึ่งตรงนี้ค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บแต่ละโบรกเกอร์จะไม่เท่ากันครับ ต้องสอบถามรายละเอียดจากแต่ละบริษัทเองครับ โดยส่วนใหญ่จะถูกว่าซื้อขายผ่านมาร์ฯ ครับ

ปล. ที่สำคัญต้องสอบถามค่าคอมฯ ขั้นต่ำด้วยนะครับว่าแต่ละโบรกเกอร์มีเงื่อนไขอย่างไรครับผม

-----------------------------------

เครื่องหมาย H และ SP คืออะไร

ทั้งสอง เครื่องหมายเป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่ทางตลาดฯ แจ้งให้ผู้ลงทุนได้ทราบว่าหลักทรัพย์นั้นโดนพักการซื้อขายด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่
โดย เครื่องหมายแต่ละตัวจะมีความหมายดังนี้ครับ

H = Halt จะเป็นการพักการซื้อขายหลักทรัพย์เพียงชั่วขณะ คือ จะมีการพักการซื้อขายหลักทรัพย์ตัวนั้นอย่างมาก 1 ช่วงเวลาการซื้อขาย คือ ช่วงเช้าหรือ ช่วงบ่ายเพียง 1 ช่วงเท่านั้นครับ (แต่อาจจะขึ้นเครื่องหมาย H ต่อในช่วงบ่ายก็ได้ครับ แต่จะต้องแจ้งอีกครั้งนึงครับ) หรือพักการซื้อขายเพียง 1 ชม. ก็ได้ครับ ซึ่งกรณีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการพักการซื้อขายเมื่อบริษัทฯ มีข่าวลือหรือข่าวที่กระทบกับบริษัทฯ ทางตลาดฯ ก็เลยพักการซื้อขายเพื่อให้ทางบริษัทชี้แจง เมื่อบริษัทชี้แจงข้อมูลมาแล้วก็จะซื้อขายตามปกติต่อไปครับ

SP = Suspension เป็นการพักการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างน้อย 1 วันทำการครับ หมายความว่าถ้าหลักทรัพย์ตัวไหนเจอขึ้นเครื่องหมายนี้ตอนเช้าวันไหนแล้ว แปลว่าวันนั้นทั้งวัน หลักทรัพย์ตัวนั้นจะไม่มีการซื้อขายอีกแล้วครับ ซึ่งบางตัวโดนกันเป็นปี ๆ เลย ฮ่าฮ่าฮ่า ซึ่งเกิดเหตุจากหลายกรณีครับ เช่น ไม่ส่งงบการเงินตามเวลาที่กำหนด หรือทางตลาดต้องการข้อมูล แต่ทางบริษัทไม่ให้ หรือเข้าข่ายตามที่ตลาดฯ กำหนด ก็เลยขึ้นเครื่องหมายครับ

--------------------------------------

เวลาเปิดปิดของตลาดหลักทรัพย์ คือเวลาไหนกันแน่

มาเลยครับ จะอธิบายเวลาเปิดปิดของตลาดฯ ให้ทราบกันครับ โดยจะแบ่งเป็นเวลา 2 ช่วงครับ

ช่วงเช้า แบ่งได้ 2 ช่วงครับ

- Pre Open 09.30 น. - [09.55, 09.56, 09.57, 09.58, 09.59, 10.00] น. เป็นเวลาก่อนเปิดตลาดจริงครับ โดยตลาดฯ จะรับออร์เดอร์จากโบรกเกอร์ ต่าง ๆ และจะทำการสุ่มราคาเปิดซึ่งมีหลักเกณฑ์อีกครับ แต่ตรงนี้ยังไม่อธิบายครับ เพราะค่อนข้างจะยุ่งยาก โดยเริ่มรับออร์เดอร์ตั้งแต่ 09.30 น. ส่วนที่ผมใส่ตัวเลข หลาย ๆ ตัว นั่นคือเวลาที่ตลาดจะสุ่มเปิดครับ ซึ่งสามารถสุ่มเวลาเปิดได้ตามเวลาที่แจ้งไว้ครับ คือตั้งแต่ 09.55 น. จนถึง 10.00 น. สามารถเปิดได้ในนาทีใด นาทีหนึ่งตามนั้นเลยครับ คำสั่ง ATO จะส่งได้ช่วงนี้ครับ

- Open [09.55, 09.56, 09.57, 09.58, 09.59, 10.00] น. - 12.30 น. เป็นช่วงเวลาซื้อขายภาคเช้าครับ จนถึง 12.30 น. ตลาดจะปิดเที่ยงครึ่งเป๊ะ ๆ เลยครับ

ช่วงบ่าย แบ่งได้ 4 ช่วงครับ

- Pre Open 14.00 น. - [14.25, 14.26, 14.27, 14.28, 14.29, 14.30] น. คล้ายกับช่วงเช้าครับ คือสุ่มราคาและรับออร์เดอร์ก่อนเปิดตลาดบ่ายครับคำสั่ง ATO จะส่งได้ในช่วงนี้เช่นกันครับ

- Open [14.25, 14.26, 14.27, 14.28, 14.29, 14.30] น. - 16.30 น. จะเป็นการซื้อขายภาคบ่ายโดยจะหยุดการซื้อขายในตอน 16.30 น. เพื่อเข้าช่วงที่สามครับ

- Pre Close 16.30 น. - [16.35, 16.36, 16.37, 16.38, 16.39, 16.40] น. ช่วง 16.30 จะเป็นการคำนวณราคาปิดไปเรื่อย ๆ โดยใช้หลักการคล้าย ๆ กับช่วง Pre Open ครับ โดย ใน 5 นาที สุดท้ายจะสุ่มเวลาปิดตรงนาทีใดก็ได้ แต่ไม่เกิน 16.40 น. ครับ คำสั่ง ATC จะส่งได้ในช่วงนี้เท่านั้นครับ

- 16.40 น. - 17.00 น. จริง ๆ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะคิดว่า ช่วงนี้ตลาดปิดไปแล้ว แต่ไม่ใช่ครับ ตลาดยังเปิดอยู่ สามารถทำการซื้อขายกันได้ แต่จะเป็นการจับคู่ซื้อขายกันโดยตรงเลย ซึ่งถ้าสังเกตกันจะเป็นว่าจะมี ข้อมูลการเสนอซื้อ เสนอขายขึ้นมา หลังเวลา 16.40 น. โดยจะเป็นการตกลงราคาและจับคู่กันเองครับ ซึ่งจะไม่ทำให้ราคาในกระดานหลักเปลี่ยนแปลง แต่จะเพิ่มเพียงมูลค่าการซื้อขายเท่านั้นครับ ไม่มีผลกับดัชนีฯ ครับผม

** บางครั้งถ้าตลาดมีการปรับตัวลงแรง ก็จะมีเงื่อนไขของ circuit breaker อีกครับ ซึ่งบ้านเราเคยได้ใช้มาแล้ว เมื่อ 51

--------------------------------------------

วอร์แรนท์ คืออะไร

วอร์แรนท์ (Warrant) คือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญ ไม่ใช่หุ้นสามัญนะครับ ซึ่งวอร์แรนท์แต่ละตัว จะต้องมีข้อมูลดังนี้ เพื่อใช้ในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญครับ

- อัตราส่วนแปลงสภาพ คือ เป็นอัตราว่าจะต้องใช้วอร์แรนท์กี่หน่วยในการแปลงสภาพเป็นหุ้น เช่น ข้อมูลบอกว่า อัตราแปลงสภาพ 1 : 1 หมายความว่า ใช้วอร์แรนท์ 1 หน่วยสามารถแปลงสภาพเป็นตัวหุ้นสามัญได้ 1 หุ้นเช่นกันครับ

- ราคาแปลงสภาพ เป็นราคาที่ต้องเพิ่มเงินเพื่อแปลงสภาพเป็นตัวหุ้นสามัญครับ เช่น อัตราแปลงสภาพ 1 : 1 5 บาท คือ วอร์แรนท์ 1 หน่วย บวกเงิน 5 บาท สามารถแปลงสภาพเป็น หุ้นสามัญได้ 1 หุ้นครับ

- วันแปลงสภาพ คือ กำหนดวันว่า วันไหนสามารถที่จะนำตัววอร์แรนท์ไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ครับ ซึ่งอาจจะเป็น ทุก ๆ สามเดือนก็ว่ากันไปครับ

- วันหมดอายุ อันนี้ต้องดูให้ดีครับ เป็นวันที่สิ้นสุดของวอร์แรนท์ครับ ถ้าเลยจากวันนี้ไป แปลว่า วอร์แรนท์จะกลายเป็นกระดาษเปล่าทันทีเลยครับ เพราะฉะนั้นการลงทุนในวอร์แรนท์ต้องติดตามให้ดีครับ

ส่วนใหญ่ ตัววอร์แรนท์จะหยุดพักการซื้อขายก่อนวันหมดอายุ 1 เดือนโดยประมาณครับ

----------------------------------


วันนึง ๆ หุ้นสามารถขึ้นลงได้เป็นราคาเท่าไหร่

โดย ปกติสิ่งที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะมี หลายอย่างครับ ทั้ง หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ์, กองทุน, วอร์แรนท์ แต่ที่ผมจะยกตัวอย่าง คงเป็นหลัก ๆ ที่เรา ๆ สนใจกันนะครับ

หุ้นสามัญ จะแบ่งเป็นสองประเภทครับ คือ หุ้นสามัญกระดานธรรมดา และ หุ้นสามัญกระดานต่างประเทศ ซึ่งเครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นหุ้นในกระดานต่างประเทศก็คือ -F ที่อยู่ด้านหลังชื่อหุ้นนั่นเองครับ เช่น หุ้นของธนาคารกรุงเทพ กระดานธรรมดาคือ BBL เพราะฉะนั้นห้นของธนาคารกรุงเทพในกระดานต่างประเทศก็คือ BBL-F

หุ้นสามัญกระดานธรรมดา สามารถขึ้นหรือลงได้สูงสุด 30% ของราคาปิดเมื่อวานนี้ครับ ที่เขาเรียกกันว่า ซิลลิ่ง และ ฟลอร์ นั่นเองครับ

**ยกเว้นหุ้นที่มีราคาปิดวันก่อนหน้านี้ต่ำกว่า 0.1 บาท จะขึ้นหรือลงสูงสุดได้ 100% ครับ

- ซิลลิ่งคือราคาสูงสุดที่จะเป็นไปได้ในวันนั้น
- ฟลอร์คือราคาต่ำสุดที่จะเป็นไปได้ในวันนั้น

ตย. ถ้าเมื่อวานนี้ ราคาหุ้น A ปิดที่ 10 บาท เพราะฉะนั้น วันนี้ หุ้น A จะมีการขึ้นได้สูงสุด 13 บาท และลงได้ ต่ำสุด 7 บาท พูดง่าย ๆ ว่า วันนี้ หุ้น A จะซิลลิ่งที่ 13 บาท และ ฟลอร์ที่ 7 บาทครับผม (ใครจะไปตั้งซื้อที่สูงกว่า 13 บาท หรือไปตั้งขายที่ ต่ำกว่า 7 บาท ก็จะไม่ได้ครับ)

หุ้นสามัญกระดานต่างประเทศ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนเกณฑ์ไปแล้วยังนะครับ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ หุ้นในกระดานต่างประเทศ จะไม่มีเพดานในการซื้อขายครับ สามารถซื้อขายสูงสุดหรือต่ำสุดในราคาเท่าไหร่ก็ได้ครับ แต่เคยได้ข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วครับ เพราะมีการทำราคากัน

วอร์แรนท์ ล่ะ สามารถขึ้นลงวันนี้ได้เท่าไหร่ 30 % เหมือนหุ้นสามัญหรือไม่ ไม่ใช่นะครับ สำหรับวอร์แรนท์ให้เอาหุ้นตัวแม่เป็นหลัก (หุ้นตัวแม่ คือหุ้นที่นำวอร์แรนท์ไปแปลงสภาพแล้วได้หุ้นสามัญของตัวนั่นแหละครับ) ถ้าตัวแม่สามารถขึ้นหรือลงได้เท่าไหร่ ตัววอร์แรนท์ก็จะขึ้นลงได้ตามตัวแม่นั่นแหละครับ

ตย. หุ้น A ราคาปิดเมื่อวาน 10 บาท ซิลลิ่ง 13 บาท ฟลอร์ 7 บาท ถ้าวอร์แรนท์ของหุ้น A มีราคาปิดเมื่อวาน 5 บาท เพราะฉะนั้น วอร์แรนท์ของหุ้น A จะมีราคาซิลลิ่ง = 5+3 คือ 8 บาท ในขณะที่มีราคาฟลอร์ = 5-3 คือ 2 บาทครับผม

-----------------------------------


NVDR คืออะไร และทำไมต้องมี

NVDR ย่อมาจาก Non Voting Depository Receipt เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิ์คล้าย ๆ กับ วอร์แรนท์นั่นแหละครับ แต่ไม่ต้องแปลงสภาพ

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเรื่อง หุ้นในกระดานในประเทศและหุ้นในกระดานต่างประเทศซะก่อน เมื่อก่อน นักลงทุนต่างประเทศที่ ต้องการซื้อหุ้นเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ที่จะเกิดจากการถือครองหุ้นนั้น จะต้องถือครองหุ้นในกระดานต่างประเทศเท่านั้นครับ จึงได้รับสิทธิต่าง ๆ เช่น เงินปันผล, การได้สิทธิในการซื้อห้นเพิ่มทุน, การรับวอร์แรนท์ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทต่าง ๆ จะจำกัดการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ให้เกิน 49 % ของทุนจดทะเบียนเพื่อไม่ให้ต่างชาติเป็นผุ้ถือหุ้นใหญ่นั่นเองครับ เรียกว่ามีเพดานในการให้ต่างชาติถือครองหุ้น

ทีนี้เลยเป็นการจำกัด สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติไปโดยปริยาย ทางตลาดฯ ก็เลยออกตัว NVDR นี่แหละครับ เพื่อรองรับความต้องการตรงนี้ โดยนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนภายในประเทศหรือต่างชาติเมื่อถือครอง NVDR ก็จะได้สิทธิทุกอย่างเหมือนกับถือหุ้นสามัญ ยกเว้นสิทธิเดียวคือการโหวตในการประชุมบริษัทฯ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ถือครอง NVDR ไม่สามารถใช้เสียงส่วนใหญ่ในการโหวตในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯนั้น ๆ ได้ครับ

สังเกตว่าตั้งแต่มี NVDR เข้ามา หุ้นในกระดานต่างประเทศ (พวกที่มี -F) ตามหลังทั้งหลายแหล่ กลายเป็นไม่มีนักลงทุนเข้าไปซื้อขายเลย หรือวอลุ่มการซื้อขายน้อยมาก เพราะมี NVDR เข้ามานี่แหละครับ

สังเกตง่าย ๆ ครับ หุ้นตัวในที่อยู่ในพอร์ตคุณแล้วมี เลข 2 อยู่ด้วยนั่นแหละมันคือ NVDR ของหุ้นตัวนั้น ๆ ล่ะครับ


------------------------------------------

หลักการส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปในตลาดฯ

อย่าง ที่เคยบอกไปข้างบนแล้วครับว่า ปกติการส่งคำสั่งซื้อหรือขายเข้าไปในตลาดฯ นั้นกระทำได้สองทางหลัก ๆ คือผ่านมาร์ฯ หรือผ่านระบบอินเตอร์เนต ซึ่งข้อดีข้อเสียของแต่ล่ะอย่างเดี๋ยวจะบอกให้ครับ

1. ผ่านมาร์ฯ หรือเจ้าหน้าที่การตลาด

ข้อเสียคือ ขั้นตอนเสียเวลา บางทีมาร์ฯ ติดธุระ คีย์ให้ไม่ทัน โทรไปไม่อยู่โต๊ะ ค่าคอมฯ ก็แพงกว่า ฯลฯ

ข้อ ดี ท่านไม่ต้องคีย์ออร์เดอร์เอง ซึ่งถ้าเกิดมีข้อผิดพลาดโดยที่ท่านไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบออร์เดอร์นั้น เช่นท่านสั่งซื้อ มาร์ฯดันไปคีย์ขาย อันนี้ถ้ามีหลักฐานว่าท่านได้สั่งซื้อจริง ท่านไม่ต้องรับผิดชอบครับ หรือลูกค้าบางท่านมีมาร์ฯ เสียงหวาน ๆ อาจจะอยากคุยด้วยก็ว่ากันไปครับ อิอิ

2. ผ่านระบบอินเตอร์เนต

ข้อ เสีย ก็จะตรงกันข้ามกับสั่งผ่านมาร์ฯ นั่นแหละครับ ออร์เดอร์ทุกออร์เดอร์ที่ท่านส่งเข้าไป ทางโบรกเกอร์หรือมาร์ฯ จะไม่ร้บผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าลูกค้าส่งคำสั่งเอง (อย่าคิดว่าคีย์เองแล้วไม่ผิดนะครับ เจอบ่อยเลย) คีย์ผิดข้าง ซื้อเป็นขาย ขายเป็นซื้อ จำนวนผิด ราคาผิด ซื้อผิดตัว หลายอย่างครับ ทุกออร์เดอร์ไม่ว่าจะผ่านใครถ้า match ไปแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้วนะครับ

ข้อ ดี ค่าคอมฯ ถูก ท่านสามารถเฝ้าหน้าจอเองได้เลย ไม่ต้องกังวลว่า มาร์จะโทรมาบอกมั้ยน้า ท่านเป็นคนตัดสินใจเองครับ สำหรับท่านที่เนตแรง ๆ มีความรู้ความเข้าใจหรือคีย์ออร์เดอร์เอง ผมว่าดีกว่าผ่านมาร์ฯ เยอะเลยครับ

-----------------------

Bid & Offer(Ask)

มาทำความเข้าใจกับศัพท์สองตัวนี้กันครับ

Bid คือการเสนอซื้อ ไม่ว่าจะเป็นราคา หรือ จำนวน ครับ โดยปกติข้อมูลที่โชว์ให้เห็นในแต่ละโบรกฯ จะเป็น 3 Best Bid คือ สามช่วงของราคาเสนอซื้อที่สูงสุด เช่น หุ้น ManU มีราคาฝั่ง Bid ดังนี้

จำนวน ราคา
10000 10.30
20000 10.20
12000 10.10

จะ เห็นว่าในด้านฝั่ง Bid ราคาช่องแรกจะเป็นราคาสูงสุดเสมอ แล้วไล่ราคาลงมา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการขายหุ้นตัวนี้ จำนวน 5000 หุ้น โดยต้องการขายทันทีเลย ท่านก็จะขายได้ในราคา 10.30 บาทครับ แต่ถ้าท่านต้องการขายจำนวน 15000 หุ้นทันทีโดยไม่สนราคาขอให้ขายให้ได้ ท่านก็จะขายได้ดังนี้ ขายได้ 10000 หุ้นในราคา 10.30 และ 5000 หุ้น ในราคา 10.20 ครับ

Offer หรือ Ask คือฝั่งตรงข้าม Bid นั่นเองครับ เป็นการเสนอขาย โดยหลักการคล้าย ๆ ฝั่งเสนอซื้อครับ แต่การแสดงข้อมูลจะเป็นราคาเสนอขายที่ต่ำสุดมาเป็นอันดับแรกครับ ตย. หุ้น ManU มีข้อมูลทางฝั่งเสนอขายดังนี้

ราคา จำนวน
10.40 20000
10.50 13000
10.60 5000

แปล ว่าถ้าท่านต้องการซื้อหุ้น ตัวนี้จำนวน 12000 หุ้น โดยไม่สนใจราคา ท่านจะซื้อได้ในราคา 10.40 ครับ แต่ถ้าท่านต้องการ ซื้อจำนวน 35000 หุ้นล่ะ ท่านจะได้ราคาไหนบ้างมาดูกันครับ
10.40 จำนวน 20000
10.50 จำนวน 13000
10.60 จำนวน 2000
นั่นคือราคาและจำนวนที่ท่านจะได้หุ้นครับ

(ที่ กล่าวมาข้างต้น อยู่ในสมมุติฐานว่า ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงราคาและจำนวนนะครับ โดยที่ท่านเป็นคนส่งคำสั่งซื้อหรือขายในขณะนั้น เพียงคนเดียวครับ) ซึ่งในตลาดจริง ไม่มีทางครับ ข้อมูลทั่งฝั่ง Bid และ Offer จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ (ยกเว้นหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่องครับ)

เคาะซื้อและเคาะขาย

ศัพท์ นี้มาจากเมื่อก่อนสมัยที่ตลาดหุ้นยังไม่มีระบบคอมฯ เข้ามาซื้อขาย ราคาหุ้น ทั้ง Bid และ Offer จะเขียนอยู่บนกระดานใหญ่ ๆ แล้วใครต้องการซื้อหรือขายตัวไหนก็จะวิ่งไปเคาะกระดานกันครับ

ปัจจุบัน คำว่า เคาะซื้อหรือเคาะขาย หมายความว่า ออร์เดอรที่ส่งเข้าไปแล้วเกิดการจับคู่ (match) ทันทีครับ ไม่ว่าจะเป็นซื้อหรือขาย

ตย.ครับ

Bid Offer
จำนวน ราคา ราคา จำนวน
10000 10.30 10.40 20000
20000 10.20 10.50 13000
12000 10.10 10.60 5000

ถ้า ท่านต้องการเคาะซื้อ ก็คือต้องซื้อในราคาที่สูงกว่า 10.30 ครับ ออร์เดอร์จะ match ทันที ไม่ต้องรอ และหากท่านต้องการเคาะขายก็คือขายราคาต่ำกว่า 10.40 ก็จะขายได้ทันครับ ไม่ต้องรอ

สมมุตินะครับ ท่านบอกว่าขาย จำนวน 5000 หุ้นในราคา 10.10 บาท ท่านก็ยังจะขายได้ราคา 10.30 เป็นจำนวน 5000 หุ้นครับ เพราะ ราคา 10.30 เป็นราคาเสนอซื้อที่ดีที่สุดในขณะนั้น (คงไม่ปฏิเสธนะครับถ้าขายได้ในราคาที่สูงกว่า) อิอิ

แต่ถ้า ท่านบอกว่าต้องการขาย 10.10 เป็นจำนวน 32000 หุ้นล่ะ จะเป็นอย่างไร ท่านก็จะขายได้ ราคา 10.30 10000 หุ้น, 10.20 20000 หุ้น และ 10.10 จำนวน 2000 หุ้นครับ พอเห็นภาพนะครับ

ฝั่ง Offer ก็หลักการคล้ายฝั่ง Bid เลยครับ ท่านที่ต้องการจะซื้อให้ได้เลยขณะนั้น ก็ต้องซื้อฝั่ง Offer ครับ

*** ส่วนออร์เดอร์ที่ไม่ใช่การเคาะซื้อ หรือ เคาะขาย ก็จะเข้าคิวไปในออร์เดอร์ที่โชว์อยู่ครับ

ตย.
Bid Offer
จำนวน ราคา ราคา จำนวน
10000 10.30 10.40 20000
20000 10.20 10.50 13000
12000 10.10 10.60 5000

ถ้าท่าน ส่งออร์เดอร์ขาย 10.60 จำนวน 15000 หุ้น ผลจะออกมาเป็นดังนี้ครับ

Bid Offer
จำนวน ราคา ราคา จำนวน
10000 10.30 10.40 20000
20000 10.20 10.50 13000
12000 10.10 10.60 5000+15000=20000

พอเห็นภาพนะครับ ออร์เดอร์ที่ไม่ match ทันทีก็จะไปเพิ่มจำนวนตรงราคาที่ท่านต้องการครับ


-----------------------------------------


กระดานต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์

โดย ปกติผู้ลงทุนเข้าใจว่า ตลาดหลักทรัพย์มีกระดานเดียวในการซื้อขาย ซึ่งเป็นกระดานที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นอยู่ทุกวันครับ ความจริงตลาดฯ มีหลายกระดานครับ กระดานหลักที่เราเห็น ๆ กันคือหนึ่งในนั้นครับผม

กระดานหลัก Main Board คือ กระดานสำหรับเสียบ CPU เย้ย ไม่ใช่ครับ กระดานหลัก หรือ Main Board เป็นกระดานที่เทรดกันทั่ว ๆ ไปนี่แหละครับ มีเงื่อนไขตามปกติที่ทราบ ๆ กันอยู่แล้วครับ เวลาเปิดปิด ก็ตามที่แจ้งไว้ใน คห. บน นั่นแหละครับ การคำนวณดัชนี จะเอาหุ้นในกระดานนี้ที่เป็นหุ้นสามัญมาคำนวณครับ

กระดานต่างประเทศ Foreign Board คือ การซื้อขายหุ้นที่มีเครื่องหมาย -F ตามหลังนั่นแหละครับ โดยหุ้นในกระดานนี้ จะไม่นำมาคำนวณดัชนีนะครับ แต่จะเอาจำนวนมูลค่าการซื้อขายมารวมครับ สามารถเทรดได้สองทางคือ เทรดเคาะซื้อขายกันปกติ หรือ ตกลงซื้อขายกันเองครับ แต่สุดท้ายก็ต้องแจ้งเข้ามาในตลาดครับ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า มีการซื้อขายกัน แล้วมีข้อความเล็ก ๆ โผล่มาบอกนั่นแหละครับ โดยจะแจ้งว่า Foreign Board ซื้อขายหุ้นอะไร จำนวน และราคาเท่าไหร่ครับ

Big Lot เป็นการซื้อขายโดยมีมูลค่าหรือจำนวนที่ตลาดกำหนดครับ ปัจจุบันผมจำไม่ได้ว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร อาจจะเป็น จำนวนหุ้นเกิน 10,000,000 หุ้น หรือมูลค่าเกิน 3,000,000 บาท ตรงนี้ไม่แน่ใจนะครับ ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยคนที่ตกลงซื้อขายไม่ต้องส่งคำสั่งเข้ามาเข้าคิวในตลาดฯ ครับสามารถตกลงซื้อขายกันนอกตลาดแล้วแจ้งให้ตลาดแจ้งกับประชาชนอีกทีนึงครับ เหตุการณ์ Big Lot ที่อยู่ในความทรงจำผมคือ การซื้อขายหุ้นในเครือชินฯ นั่นแหละครับ เล่นเอาผมนั่งตาค้างไปชั่วขณะเพราะมันคือโคตรของโคตร Big Lot ครับ ฮ่าฮ่าฮ่า เพราะดีลนั้นรวมแล้ว เป็นหลัก 7-8 หมื่นล้านบาทเลยครับ ตรงนี้ก็จะไม่มีผลกับดัชนีเช่นกันครับ แต่จะเอามูลค่าการซื้อขายมารวมในมูลค่าการซื้อขายรวมครับ

Odd Lot กระดานเศษหุ้น ครับ น้อยคนที่จะเล่นในกระดานนี้ครับ แต่สามารถทำกำไรได้นะครับ ถ้ารู้จักเล่น อิอิ หุ้นที่ท่านต้องการซื้อหรือขาย โดยมีจำนวนไม่ถึง 100 หุ้น สามารถซื้อหรือขายได้ในกระดานนี้ครับ หรือตกลงกันข้างนอกแล้วแจ้งไปยังตลาดฯ จะขึ้นข้อความเล็ก ๆ นั่นแหละครับ สังเกตว่า บางคนมีเศษหุ้นเขาจะทำอย่างไร ก็มาซื้อขายกันในกระดานนี้แหละครับ อีกอย่าง การซื้อขายในกระดานเศษหุ้นนี้ ค่าคอมฯ คิดตามความเป็นจริง และไม่มีขั้นต่ำด้วยนะครับ การซื้อขายในกระดานเศษหุ้นนั้นจะซื้อขายได้เฉพาะเวลาที่กระดานหลักเปิดซื้อ ขายแล้วเท่านั้นครับ ช่วง Pre Open จะส่งคำสั่งไม่ได้ครับ ส่วนช่วง Pre Close ผมไม่แน่ใจครับ


------------------------------

คำสั่งในการซื้อขายหุ้น ที่ควรทราบครับผม

อันนี้ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ลงทุนครับว่า ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งแบบใดเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้บ้างครับ เพื่อเป็นความรู้ครับผม

- ATO = At The Open เป็นคำสั่งที่สามารถส่งเข้าไปได้ในช่วง Pre Open ทั้งสองช่วง (เช้าและบ่าย) เท่านั้นครับ เมื่อจบช่วงนั้นแล้วไม่ว่าออร์เดอร์จะ match หรือไม่ จะถูกยกเลิกไปทันทีครับ แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกยกเลิกเพราะมัน match นั่นเองครับ

คำสั่งนี้ จะถือว่า ผู้ที่ส่งคำสั่งไม่สนใจราคา แต่ต้องการให้ออร์เดอร์ของตัวเอง match ในราคาเปิดทันทีครับ สามารถส่งได้ทั้งฝั่งซื้อ และขาย ท่านจะเห็นจำนวนและเขียนว่า ATO ในช่วง Pre Open นั่นแหละครับคือคำสั่ง ATO ที่ถูกส่งเข้าไป โดยผู้ที่ส่งคำสั่ง ATO จะมีสิทธิ์ match ก่อนผู้ที่ส่งออร์เดอร์เป็น ซิลลิ่งและฟลอร์อีกนะครับ วันไหนเห็นหุ้นซีลลิ่งแล้วช่วง Pre Open จะยังมี ATO ก่อน นั่นแหละครับมันแซงคิวคนที่ให้ราคาซิลลิ่งซะอีกครับ

ATC = At The Close เป็นคำสั่งที่มีหลักการเหมือน ATO เป๊ะ ๆ ครับ แต่จะส่งเข้าไปได้ในช่วง Pre Close เท่านั้นครับ

** ทั้งคำสั่ง ATO และ ATC ไม่ใช่ว่าใส่ออร์เดอร์เข้าไปแล้วต้อง match นะครับ บางกรณีอาจไม่ match ก็ได้ เช่น ATO ไปในฝั่งซื้อ แต่ว่าหุ้นนั้นไม่มีคนตั้งขายออกมา ก็จะไม่ match ครับ

คำสั่งปกติตอนตลาดเปิดเทรด เป็นคำสั่งที่เรา ๆ ใช้กันอยู่นี่แหละครับ ใส่ชื่อหุ้น, จำนวน, ราคา แล้วส่งเข้าไป จะ match หรือไม่ก็แล้วแต่ ราคาและจำนวนที่เราส่งเข้าไปครับ แต่คำสั่งพวกนี้จะมีลูกเล่นให้เราสามารถทำได้ด้วยนะครับ เผื่อบางคนที่ไม่ทราบ

MP = Market Price ตรงนี้เป็นการส่งคำสั่งโดยต้องการ match ทันทีโดยไม่สนใจราคาครับ เอาจำนวนเข้าว่า ทั้งฝั่งซื้อและขาย ถ้าซื้อคือต้องการจำนวนหุ้นไม่สนใจว่าราคาที่ซื้อมาเป็นเท่าไหร่ครับ ส่วนฝั่งขายก็ขายให้ได้ไม่สนใจราคาขายครับ

** คำสั่ง MP นี้ ใส่ไปแทนตรงราคาได้เลยครับ แต่ว่า ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงมาก ๆ เพราะเราไม่ทราบว่าจะซื้อหรือขายหุ้นในราคาเท่าไหร่กันแน่ และอีกประเด็นนึงที่ผมไม่ทราบจริง ๆ คือถ้า จำนวนหุ้นไม่พอที่เราต้องการ ส่วนที่เหลือของจำนวนจะเป็นอย่างไร จะไปค้นมาให้ทีหลังครับ

Published เป็นการซ่อนออร์เดอร์ไว้ครับ โดยมีหลักการว่า เราใส่จำนวนหุ้นที่เราต้องการขายไปทั้งหมดก่อน แล้วก็ตั้งค่า Published ไว้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ (ต้องน้อยกว่าจำนวนที่ต้องการขายทั้งหมดนะครับ) ซึ่งตรงมีเงื่อนไขอีกว่า ต้องตั้งจำนวนเป็นอย่างน้อยเท่าไหร่จึงจะสามารถ ซ่อนออร์เดอร์ได้ ถ้าจำไม่ผิดนะครับ ต้องจำนวนอย่างน้อย 10000 หุ้นและ สามารถซ่อนได้ไม่ต่ำกว่า 1000 หุ้น อันนี้เป็นประมาณนี้นะครับ อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้

**คำสั่ง Published นี้ จะส่งได้ในช่วงตลาด Open เท่านั้น ช่วง Pre Open, Pre Close ส่งเข้าไปไม่ได้นะครับ และคำสั่งนี้จะโดนยกเลิกทันที่ที่ตลาดปิดช่วงเช้า 12.30 น. และ ก่อน Pre Close 16.30 น. แล้วแต่ช่วงไหนจะถึงก่อนครับ และส่งออร์เดอร์ published เป็นราคาเคาะส่งไม่ซ่อนนะครับ เพราะมัน match ไปแล้ว

คราวนี้เมื่อออร์เดอร์ซ่อนเข้าไปแล้ว จะเป็นอย่างไรมาดูกันครับ

ตย.
หุ้น A มีฝั่ง Offer 10000 หุ้น ราคา 10 บาท

ท่าน ส่งออร์เดอร์ ขายหุ้น 100,000 หุ้น Published 10,000 หุ้น 10 บาท ในหุ้น A จำนวน Offer ในหุ้น A จะเพิ่มเป็น 20,000 หุ้นทันทีครับ จนกระทั่งมีคนซื้อหุ้นของท่าน 10,000 หุ้น แล้ว อีก 10,000 หุ้น จะเข้าไปใหม่ครับ บางคนเข้าใจผิดว่า หุ้น 100,000 หุ้นจะต่อคิวกันโดยแสดงทีล่ะ 10,000 หุ้นซึ่งไม่ใช่นะครับ มันจะเข้าไปทีละ 10,000 หุ้น โดยที่ 10,000 หุ้นก่อนหน้านั้นได้ match ไปหมดแล้วนะครับ ออร์เดอร์ 10,000 ต่อไปถึงจะเข้าไป หมายความว่าออร์เดอร์จะรอเข้าไปอีก 90,000 หุ้น โดยเข้าไปทีละ 10,000 เมื่อ 10,000 หุ้นก่อนหน้านั้นโดน match ไปหมดแล้วนะครับ ซึ่งบางทีท่านอาจจะเสียคิวได้ เพราะมีออร์เดอร์ของคนอื่นเข้าไปแซงหน้าก่อนครับ




----------------------------------------

คำถามที่ทุกคนอยากไม่อยากถามครับ ถ้าบริษัทที่เราถือหุ้นเจ๊งหรือปิดกิจการ หุ้นที่เราถือจะเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องว่าด้วยคำ ๆ นี้ครับ "การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน" เหอ ๆ ๆ ๆ

ถ้า บริษัทฯ ที่เราถือหุ้นอยู่เกิดเจ๊ง หรือปิดกิจการเราจะทำอย่างไร ไม่ต้องทำอย่างไรครับ เพราะเราได้จ่ายค่าหุ้นไปแล้ว ผลขาดทุนก็คือจำนวนเงินที่เราเข้าไปลงทุนในหุ้นสามัญนั่นแหละครับ เจ้าหนี้ของทางบริษัทฯ ไม่สามารถจะมาเรียกร้องอะไรเพิ่มได้จากเรา แม้ว่าเราจะเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม อย่าลืมนะครับถ้าเราถือหุ้นสามัญ เราจะมีส่วนรับผิดชอบเพียงแต่จำนวนเงินที่เราลงทุนซื้อนั้นเข้าไปเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเพิ่มอีกแล้ว

และหุ้นตัวนั้นก็จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดฯ ไปครับ



---------------------------------------------

คำถามใกล้เคียงกับ คห. ข้างต้นครับ ถ้าบริษัทฯ ที่เราถือหุ้นอยู่ ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ เราจะทำไง

ข้อ นี้ เป็นการออกจากตลาดหลักทรัพย์ ด้วยความต้องการของทางบริษัทฯ เอง ไม่ได้ผิดข้อบังคับของตลาดฯ แต่อย่างใดครับ ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลาย ๆ บริษัทฯ ได้ทำอย่างนี้มาแล้วครับ

เราต้องทำอย่างไรล่ะ เลือกได้ 2 กรณีครับ คือ ถือหุ้นต่อ หรือขายคืนให้กับบริษัทฯ (ผู้ถือหุ้นใหญ่) ไป

ถ้า เราถือหุ้นต่อ เราก็จะได้สิทธิเหมือนเดิมทุกประการทั้งการรับเงินปันผล, หุ้นเพิ่มทุน, ฯลฯ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้อย่างสะดวกเท่านั้นเองครับ เพราะเราไม่มีตลาดฯ เป็นตัวกลางในการซื้อและขาย เวลาท่านต้องการขาย คงจะยากลำบากเหมือนกันครับ

กรณีขายคืน ก่อนที่จะถอนหุ้นออกจากตลาดฯ ตามกฎแล้ว ทางบริษัทฯ ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทุกคน ย้ำนะครับว่าทุกคน ที่เราเรียกกันว่า Tender Offer นั่นแหละครับ โดยจะเป็นการตั้งโต๊ะเพื่อรับซื้อหุ้นกลับจากผู้ถือหุ้นรายย่อยทุกคนที่ต้อง การขายหุ้นคืนให้กับบริษัทฯ ซึ่งโดยปกติแล้ว ราคาที่ทำ Tender Offer จะสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยขายคืนให้กับบริษัทฯ ครับ

ตย. ดูตัว UTC ได้เลยครับ เป็นตัวอย่างชัด ๆ สำหรับภาคบ่ายนี้เลยครับ บริษัทต้องการออกจากตลาด จึงต้องทำการ Tender Offer โดยให้ราคาหุ้นล่ะ 10 บาทเลยทีเดียว หุ้นจากราคาปิดเพียง 4 บาท กลับปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงราคา Tender Offer ทันทีครับ



-------------------------------------------------

ถือหุ้นเป็นใบหุ้นหรือเอาหุ้นไว้ในพอร์ต อย่างไหนดีกว่ากัน

สำหรับ ผม ขอให้ผู้ลงทุนเปิดพอร์ตลงทุนเถอะครับแล้วเอาใบหุ้นที่มีเข้าไปไว้ในพอร์ต ครับ ความเสี่ยงต่างกันลิบลับเลย เสียค่าอากรเพียง 30 บาทเท่านั้นเองครับ ในการเปิดพอร์ต

การถือหุ้นเป็นใบหุ้นมีความเสี่ยงมากครับ (ผมบอกตัวอย่างเพื่อให้ทราบว่ามีความเสี่ยงอย่างไร ไม่ใช่ให้ทุจริตกันนะครับ) ถ้าสมมุติท่านมีใบหุ้น แล้วเกิดวันใดวันหนึ่งมีคนขโมยใบหุ้นของท่านไปได้ เขาสามารถเอาหุ้นของท่านไปขายได้โดยที่ท่านไม่ทราบเลยก็ได้นะครับ เพราะถ้าเขามีใบหุ้นของท่านและสำเนาบัตรประชาชนของท่านเท่านั้น เขาสามารถขายหุ้นของท่านได้ทันที เพราะเขาจะปลอมลายเซ็นต์ท่าน เพื่อสลักหลังแล้วเอาใบหุ้นไปเข้าพอร์ตใครก็ได้ เพื่อขายครับ (ทางศูนย์ฯ รับฝากไม่มีข้อมูลลายเซ็นต์ของท่านหรอกครับ เพียงแต่ดูว่าลายเซ็นต์ในหลังใบหุ้นกับในสำเนาบัตรตรงกัน ก็สามารถเอาหุ้นเข้าพอร์ตได้แล้วครับ)

คนทั่วไปเห็นว่าการมีหุ้นเป็น ใบหุ้นมันรู้สึกอุ่นใจเหมือนว่ามีหลักฐานในการมีหุ้น แต่นั่นแหละครับ เวลาท่านต้องการขายหุ้นการถือใบหุ้นจะยุ่งยากมากกว่ามีหุ้นไว้ในพอร์ตครับ ถ้ามีหุ้นในพอร์ตท่านสามารถสั่งขายได้ทันทีตอนนั้นเลย แต่ถ้าเป็นใบหุ้นโดยที่ท่านไม่มีพอร์ตละก็ นานเลยครับกว่าจะขายได้ ท่านต้องไปเปิดบัญชี (ประมาณสามวัน) แล้วก็ต้องฝากใบหุ้นเข้าพอร์ตอีก เสียเวลาเลยครับ ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่หุ้นลงด้วยแล้ว ขายสามวันที่แล้วกับขายวันนี้ คนละราคาเลยนะครับ

การเก็บหุ้นไว้ใน พอร์ต มีข้อดีคือสามารถสั่งขายได้ทันทีตามที่บอกไว้ข้างต้นแล้ว และไม่ต้องกลัวครับว่าจะโดนทุจริต เพราะจะมีการตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างละเอียดว่า หุ้นของท่านโดนขายไปเมื่อไหร่ ใครขาย เพราะปกติไม่ใช่ว่ามาร์ฯ จะสามารถซื้อขายหุ้นของท่านโดยพละการนะครับ ต้องมีคำสั่งจากเจ้าของพอร์ตเท่านั้น ไม่อย่างนั้นมาร์ฯ ที่ขายหรือซื้อ ผิดเต็ม ๆ ครับ สามารถฟ้อง กลต. ได้เลย เพราะฉะนั้นวางใจได้ครับว่า เก็บหุ้นไว้ในพอร์ต ดีกว่าเก็บเป็นใบหุ้นแน่นอนครับ


------------------------------------

ความคิดเห็น

ZEIKKEI กล่าวว่า
หุ้นที่ขึ้นNPคืออะไรครับ

ถามโดย Waronco
ZEIKKEI กล่าวว่า
ตอบคุณ Waroncom นะครับ

NP = Notice Pending คือ ทางตลาดหลักทรัพย์ได้ร้องขอข้อมูลไปยังบริษัทฯ นั้น ๆ ครับ แต่ทางบริษัทฯ นั้นยังไม่ได้ส่งข้อมูลให้กับทางตลาดฯ ครับ ทางตลาดเลยขึ้นเครื่องหมาย NP ไว้ครับ เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่า มีข่าวสารที่ทางตลาดฯ ร้องขอไปยังบริษัทฯ นั้น แล้วทางบริษัทฯ ยังไม่ได้แจ้งเข้ามาครับ

เมื่อทางบริษัทฯ แจ้งข้อมูลเข้ามาแล้ว ทางตลาดฯ จะขึ้นเครื่องหมาย NR คือ Notice Receive ครับ เป็นการบอกว่าได้รับข่าวสารแล้วครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การคำนวณ NAV เฉลี่ย

ถามเรื่องการคำนวณ NAV เฉลี่ยครับ อยากทราบวิธีการคำนวณ NAV เฉลี่ยของ SCBDV ครับ เพราะคิดว่ามันน่าจะเอาไปใช้กับตัวอื่นได้ด้วย คือ ตอนนี้ NAV เฉลี่ยของผมอยู่ที่ 11.6 ครับ มีหน่วยลงทุนทั้งหมด 1122 ครับ ถ้าผมต้องการให้ เหลือสัก 11 นี่ ผมควรจะต้องซื้อเพิ่มเท่าไรอ่ะครับ แบบว่าคำนวณไม่เป็นจิง ๆ นะครับ ^^'

ซื้อหุ้นจากบัญชี cash balance at ato/atc ต้องเหลือเงินเท่าไหร่ในบัญชีครับ (มือใหม่ครับ)

ผมพยายามจะซื้อหุ้นตัวนึงที่ atc (ราคาก่อนตั้งอยู่ที่ 2.06) ขนาดบวกลบคูณหาร ถ้าซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคา 2.06 หรือ 2.08 จะเหลือเงินในบัญชี 2500-3500 บาท ทางโปรแกรมยังปฎิเสธไม่ให้ซื้อเลยครับ บอกว่าวงเงินไม่พอที่จะซื้อ ... เลยอยากถามเพื่อนๆ ครับว่า เวลาตั้งซื้อหุ้นเวลา Ato/atc ควรจะให้เหลือเงินเท่าไหร่ในบัญชีดี ถึงจะซื้อได้ครับ ผมพยายามเปลี่ยนจำนวนหุ้นที่จะซื้อหลายครั้งมาก สรุปวันนี้ซื้อไม่ได้สักตัว T_T คำถามโดย playornot

ถ้าเรามีใบหุ้นแล้วต้องการเอาเข้าพอร์ตล่ะทำอย่างไร

ถ้าเรามีใบหุ้นแล้วต้องการเอาเข้าพอร์ตล่ะทำอย่างไร โดย red_devil ถ้า คุณมีพอร์ตและต้องการเอาใบหุ้นมาเข้าพอร์ตเผื่อขาย หรือเพื่อเป็นอะไรก็ตาม สามารถทำได้โดยนำใบหุ้นนั้นเซ็นต์สลักหลังในช่องผู้โอน แล้วนำไปเข้าพอร์ตได้เลยครับคนที่เซ็นต์สลักหลังต้องเป็นคนที่มีชื่อเป็น เจ้าของใบหุ้นนะครับ อย่างเช่นถ้าเพื่อนคุณต้องการเอาใบหุ้นมาฝากในพอร์ตคุณเพื่อขาย ต้องให้เพื่อนคุณเซ็นต์สลักหลังนะครับไม่ใช่คุณเซ็นต์ แล้วก็เอาเข้าพอร์ตชื่อคุณได้ครับ แต่ทางที่ดี ใครก็ตามที่ต้องการเอาใบหุ้นเข้าพอร์ตเพื่อขายหรือทำอะไรก็ตาม ไปเปิดพอร์ตเองเถอะครับ จะได้ไม่มีปัญหาทีหลังเปิดพอร์ตก็ไม่ยาก เสียค่าธรรมเนียมเพียง 30 บาท วิธีการเปิดบัญชีดูได้ในกระทู้เก่าครับ